1. ผลการเรียนรู้
อธิบายความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์กราฟิกได้
2. สาระสำคัญ/ความคิดรวบยอด
หลักการทำงานของภาพกราฟิก แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
ภาพกราฟิกแบบราสเตอร์ (Raster) หรือบิตแมพ (Bitmap) เป็นภาพกราฟิกที่เกิดจากการเรียงตัวของจุดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า พิกเซล (Pixel)
ภาพกราฟิกแบบเวกเตอร์ (Vector) เป็นภาพกราฟิกที่เกิดจากการประมวลผลโดยอาศัยหลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์
ประเภทของภาพกราฟิก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ภาพกราฟิกประเภท 2 มิติ เป็นภาพที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วๆไป เช่น ภาพถ่าย รูปวาด ภาพลายเส้น สัญลักษณ์ กราฟ
ภาพกราฟิกประเภท 3 มิติ เป็นภาพกราฟิกที่ใช้โปรแกรมสร้างภาพ 3 มิติ เช่น 3D max, Maya ทำให้ได้ภาพที่มีสีและแสงเงาเหมือนจริง
ระบบสีในงานกราฟิก มี 7 ระบบ ได้แก่
ระบบสี RGB
ระบบสี CMYK
ระบบสี HSB
ระบบสี LAB
ระบบสี Grayscale
ระบบสี Bitmap
ระบบสี Indexed
3. จุดประสงค์การเรียนรู้
อธิบายเกี่ยวกับหลักการทำงานของภาพกราฟิกได้ (K)
อธิบายเกี่ยวกับระบบสีที่ใช้ในงานกราฟิกแต่ละระบบได้ (K)
แยกรูปแบบภาพกราฟิกแบบ Raster กับ แบบ Vector ได้ (P)
ทำงานเป็นทีม ยืดหยุ่น ปรับตัวให้ทำงานในสถานการณ์หรือทีมที่แตกต่างกันได้ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน (A)
หลักการทำงานของภาพกราฟิก แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
ภาพกราฟิกแบบราสเตอร์ (Raster) หรือบิตแมพ (Bitmap) เป็นภาพกราฟิกที่เกิดจากการเรียงตัวของจุดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า พิกเซล (Pixel) วิธีสังเกต ๆ คือ เมื่อขยายหรือซูมภาพเยอะ ๆ จะเห็นเป็นสี่เหลี่ยมสีจำนวนมากต่อกัน
Raster จึงเป็นไฟล์ภาพที่ซับซ้อนที่มีการไล่ระดับสีได้อย่างราบลื่น แต่หากใช้การย่อ หรือ เพิ่มขนาด จะเริ่มเห็นความแตกของ Pixel ไฟล์ประเภท Raster เช่น JPEG, PSD, PNG และ TIFF
ภาพกราฟิกแบบเวกเตอร์ (Vector) เป็นภาพกราฟิกที่เกิดจากการประมวลผลโดยอาศัยหลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์ รูปแบบภาพจะถูกกำหนดโดยชุดของพารามิเตอร์ทางคณิตศาสตร์ จึงสามารถปรับขนาดขึ้นหรือลงได้โดยไม่เสียคุณภาพ ตัวอย่างของไฟล์ Vector เช่น AI, EPS และ SVG
ประเภทของภาพกราฟิก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ภาพกราฟิกประเภท 2 มิติ เป็นภาพที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วๆไป เช่น ภาพถ่าย รูปวาด ภาพลายเส้น สัญลักษณ์ กราฟ
ภาพกราฟิกประเภท 3 มิติ เป็นภาพกราฟิกที่ใช้โปรแกรมสร้างภาพ 3 มิติ เช่น 3D max, Maya ทำให้ได้ภาพที่มีสีและแสงเงาเหมือนจริง
Resolution คือความละเอียดในการแสดงผลของภาพบนจอ
ซึ่งถูกกำหนดหน่วยเป็น Pixel (เม็ดสี) ต่อ 1 พื้นที่อย่างเช่นถ้าหากภาพมีค่า Resolution = 300 Pixels ต่อ 1 inches หมายความว่าทุกๆ 1 นิ้วของภาพนั้นจะมีเม็ดสีอัดกันเป็นจำนวน 300 สี
ซึ่งที่นิยมใช้กันจะเป็น Pixels Per Inches หรือที่เรียกกันว่า PPI ในส่วนของงานพิมพ์จะเรียกว่า DPI
ซึ่งย่อมาจาก Dots Per Inch จำนวนจุดที่พิมพ์ต่อนิ้ว
ระบบสีในงานกราฟิก มี 7 ระบบ ได้แก่
ระบบสี RGB
ระบบสี RGB ย่อมาจากคำว่า Red Green Blue เป็นระบบสีที่เกิดจากการรวมกันของแสงสีแดง สีเขียว และ สีน้ำเงิน เมื่อมีการใช้สัดส่วนของ 3 สีนี้ต่างกัน จะทำให้เกิดสีต่าง ๆ ได้อีกมากมายถึง 16.7 ล้านสี ซึ่งใกล้เคียงกับสีที่ตาเรามองเห็นปกติ โดยสีที่ได้จากการผสมสีขึ้นอยู่กับความเข้มของสี
ระบบสี CMYK
ระบบสี CMYK ย่อมาจากคำว่า Cyan Magenta Yellow Black เป็นระบบสีมาตรฐานที่เหมาะกับงานพิมพ์ พิมพ์ออกทางกระดาษ หรือวัสดุผิวเรียบอื่น ๆ โดยทำการแก้ไขจุดบกพร่องของระบบสี RGB ที่เครื่องพิมพ์ ไม่สามารถพิมพ์สีบางสีออกไปได้ ประกอบด้วยสีหลัก 4 สี คือ สีฟ้า สีชมพูม่วง สีเหลือง และสีดำ
ระบบสี HSB
ระบบสี HSB เป็นระบบสีที่เลียนแบบการมองเห็นของสายตามนุษย์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
Hue คือ สีต่าง ๆ ที่สะท้อนออกมาจากวัตถุเข้าสู่สายตาชองเรา
Saturation คือ ความสดของสี
Brightness คือ ระดับความสว่างของสี
ระบบสี LAB
ระบบสี LAB เป็นมาตรฐานสำหรับการวัดค่าแบบครอบคลุมทุกสีในระบบสี RGB และ CYMK สามารถใช้กับสีที่เกิดจากอุปกรณ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ สแกนเนอร์ รวมทั้งอุปกรณ์อื่น ๆ ส่วนประกอบของระบบสีนี้ ได้แก่
L (Luminance) เป็นค่าความสว่าง
A แสดงการไล่สีจากสีเขียวไปยังสีแดง
B แสดงการไล่สีจากสีน้ำเงินไปยังสีเหลือง
ระบบสี Grayscale
ระบบสี Grayscale จะจัดการแต่ละพิกเซลในแบบ 8 บิต เหมือนเป็น สวิตซ์เปิด-ปิด แสดง 8 อัน เพื่อสร้างเป็น 1 สีดำ 1 สีขาว และ 254 ระดับสีเทา มักใช้กับภาพขาว - ดำ หรือแปลงภาพสีเพื่อไปใช้ในงานพิมพ์แบบขาว-ดำ
ระบบสี Bitmap
ระบบสี Bitmap เป็นระบบสีที่มีการเก็บข้อมูลสีเพียง 1 Bit ต่อ Pixel ซึ่งจะทำให้รูปในโหมดนี้มีเพียงสีขาว หรือ ดำเท่านั้น และไม่สามารถไล่เฉดสีได้ ทำให้ภาพหยาบมาก ไม่สามารถตกแต่งใดๆ ได้ ข้อดีของโหมดภาพแบบนี้ คือ ภาพจะมีขนาดที่เล็กมาก สามารถใช้สร้างภาพลายเส้น หรือโลโก้ที่ไม่ต้องการสีได้
ระบบสี Indexed
ระบบสี Indexed เป็นระบบจัดเก็บสีโดยกำหนดให้ 1 ภาพจะมีสีเพียง 256 เฉดสีเท่านั้น โดยโปรแกรมจะทำการสร้างตารางดัชนี ( Indexed Color ) ขึ้นมาจัดเก็บสีในภาพ โดยสีอื่นๆ ในภาพที่อยู่นอกเหนือจาก 256 ในตารางดัชนีสีโปรแกรมจะหาสีที่ใกล้เคียงจากสีทั้ง 256 สีที่เก็บเอาไว้มาแทนที่มีเดิม